...สำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองพะเยาขอต้อนรับทุกท่านด้วยความยินดียิ่ง...
โรคมือ เท้า ปาก (เปื่อย) คือโรคอะไร?

โรคมือ เท้า ปาก (เปื่อย) มีชื่อเรียกว่า Hand, Foot and Mouth Disease เรียกชื่อสั้นๆ ว่า HFMD หลายท่านนิยมเรียกสั้นลงว่า “โรคมือ เท้า ปาก”

ใครบ้างที่เป็นโรคนี้ได้
เป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ พบน้อยในเด็กโต เป็นได้ทั้งสองเพศ เป็นได้กับทุกเชื้อชาติ ยังไม่เคยมีรายงานว่าสตรีมีครรภ์ติดเชื้อแล้วให้กำเนิดทารกมีความพิการแต่กำเนิด ผู้ใหญ่ติดเชื้อได้แต่มักไม่ปรากฏอาการของโรค


วิธีการแพร่เชื้อและติดโรค
เชื้อจะพบได้ในระบบทางเดินอาหารของผู้ป่วย มีเชื้อในปาก น้ำลาย น้ำมูก ละอองฝอยจากการไอ การจาม และในอุจจาระ เชื้อจะแปดเปื้อนอยู่ได้ในสิ่งแวดล้อม ของใช้ เสื้อผ้า ผ้าอ้อม ของเล่นของเด็กที่ป่วย เชื้อจะพบได้ในบริเวณที่เด็กติดเชื้อหรือเด็กที่ป่วยนั้นเล่นหรือนอน การแพร่เชื้อโรคการติดโรค คือ การสัมผัสโดยตรงกับเชื้อที่แปดเปื้อนอยู่ เชื้อจะทนอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้เป็นชั่วโมงๆ
ลักษณะของโรคเป็นอย่างไร
มีไข้นำมาก่อน มีตุ่มเจ็บในปาก มีผื่นตามตัวเป็นตุ่มพอง ตุ่มเล็กๆ ไม่ใคร่โต ขึ้นตามมือ ฝ่ามือ เท้า ฝ่าเท้า และที่ก้น อาการเริ่มแรกจะมีไข้ต่ำๆ ไม่สบาย ปวดเมื่อยตามเนื้อตามตัว (เด็กเล็กๆ มักบอกไม่ได้) และมีอาการเจ็บคอ หลังจากที่มีไข้ 1-2 วัน ในปากจะมีแผลเปื่อยและเจ็บ รอยโรคมักจะปรากฏที่ลิ้น และในกระพุ้งแก้ม
ลักษณะของตุ่มที่ผิวหนัง เริ่มแรกจะเป็นจุดแดงๆ เล็กๆ ก่อน ราบหรือนูน ต่อมาบางอันจึงจะกลายเป็นตุ่มพองและแตกเป็นแผลได้ ผื่นมักจะไม่คัน (เด็กจะไม่เกา) และมักจะปรากฏที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ที่แก้มก้นก็มีผื่นได้บ้าง ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีเฉพาะแผลในปากเท่านั้น คล้าย “แผลร้อนใน” ก็ได้
- โรคมือ เท้า ปาก เปื่อยมีความรุนแรงเพียงใด
สาเหตุของโรคเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่สำคัญ 2 ชนิด มีชื่อว่า ค็อกซ์แซกกี เอ16 และไวรัสเอ็นเตโร 71 (Coxsackievirus A16 หรือเรียกสั้นๆว่า CA16 และ Enterovirus 71 หรือเรียกสั้นๆ ว่า EV71)
ถ้าต้นเหตุ คือ Coxsackievirus A16 โรคโดยทั่วไปอาการอ่อน ทั้งๆ ที่ไม่ได้รับการรักษาส่วนมากจะฟื้นและหายจากโรคภายในเวลา 7-10 วัน และมักไม่พบภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
ถ้าติดเชื้อ EV71 จะมีอาการที่รุนแรง กล่าวคือ มีอาการทางระบบสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบและสมองอักเสบ ซึ่งจะมีอาการไข้ ปวดศีรษะมาก คอแข็ง หรือปวดหลัง หรืออาจมีอาการอัมพาตคล้ายโรคโปลิโอ และอาจมีความรุนแรงถึงตายได้ จึงจำเป็นจะต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล
ในเอเชียเคยมีการระบาดในประเทศใดมาบ้าง
พ.ศ. 2540 มีการระบาดของโรคนี้ในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์
พ.ศ. 2541 มีการระบาดในไต้หวัน มีผู้ติดเชื้อนับแสนราย ตายไปนับร้อยราย
การรักษาโรค
ยังไม่มีการรักษาจำเพาะสำหรับโรค การรักษากระทำโดยการรักษาตามอาการและการรักษาประคับประคอง
การป้องกันโรค
ยังไม่มีวัคซีน หรือยาที่ใช้ป้องกันโรคนี้ได้โดยเฉพาะ
คำแนะนำในการป้องกันโรคสำหรับประชาชน
คำแนะนำดังต่อไปนี้ ได้จากเอกสารแจกของกระทรวงสาธารณสุขที่ผมเห็นว่ามีประโยชน์จึงคัดตัดตอนเอามาเล่าต่อ
พ่อแม่ผู้ปกครอง ที่บ้าน และผู้ดูแลเด็ก คุณครูที่โรงเรียนอนุบาล ควรแนะนำอนามัยส่วนบุคคลแก่บุตรหลานและเด็กนักเรียน โดยเฉพาะการล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนการเตรียมหรือก่อนรับประทานอาหาร และหลังขับถ่าย
ผู้ดูแลควรมีการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่โดยเฉพาะหลังทำความสะอาดเช็ดก้นล้างให้เด็ก
การรักษาสุขอนามัยในการรับประทานอาหาร เช่น การใช้ช้อนกลาง หลีกเลี่ยงการใช้แก้วน้ำร่วมกัน ควรให้เด็กอยู่ในที่ที่มีการระบายอากาศที่ดี ไม่พาเด็กเล็กไปในที่แออัด ตามที่ชุมนุม ตามห้างสรรพสินค้า ไม่พาไปเยี่ยมผู้ป่วย
ผู้ประกอบการในสถานเลี้ยงเด็ก ควรดูแลให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานด้านสุขลักษณะของสถานที่อย่างสม่ำเสมอ เช่น การเช็ดถูอุปกรณ์เครื่องเรือน เครื่องเล่น หรืออุปกรณ์การเรียนการสอนต่างๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ประจำ กำจัดอุจจาระให้ถูกต้องและล้างมือบ่อยๆ
ในโรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนประถมศึกษา ควรเพิ่มเติมความรู้เรื่องโรคและการป้องกันตนเอง เช่น ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับเด็กป่วย การล้างมือและการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ผู้ดูแลสระว่ายน้ำ ควรรักษาสุขลักษณะของสถานที่ตามประกาศของกรมอนามัย เพื่อป้องกันการระบาดของโรคมือ เท้า ปาก
ในกรณีที่เด็กมีอาการป่วยซึ่งสงสัยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที และแยกเด็กอื่นไม่ให้คลุกคลีใกล้ชิดกับเด็กป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีการระบาด หากเด็กมีตุ่มในปาก โดยที่ยังไม่มีอาการอื่น ให้หยุดเรียน อยู่บ้านไว้ก่อน ให้เด็กที่ป่วยขับถ่ายอุจจาระลงในที่รองรับ แล้วนำไปกำจัดให้ถูกสุขลักษณะในส้วม หากเด็กมีอาการป่วยรุนแรงขึ้น เช่น ไม่ยอมรับประทานอาหาร ไม่ยอมดื่มน้ำ ต้องรีบพาไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
สำหรับท่านที่จะพาบุตรหลานที่เป็นเด็กเล็กไปต่างประเทศที่มีการระบาด สามารถเดินทางได้ตามปกติ โดยให้ปฏิบัติตนตามสุขลักษณะที่ดี หลีกเลี่ยงพาบุตรหลานไปสถานที่แออัด และหากบุตรหลานมีอาการป่วยที่สงสัยโรคมือ เท้า ปาก ให้พาไปพบแพทย์
การทำความสะอาดพื้นผิวต่างๆ ที่เด็กป่วยสัมผัส ทั้งในบ้าน สถานศึกษา สถานที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า แนะนำให้ทำความสะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอกปกติก่อน แล้วตามด้วยน้ำยาฟอกขาว เช่น คลอรอกซ์ ไฮเตอร์ ทิ้งไว้ 10 นาที แล้วล้าง/เช็ด/แช่ ด้วยน้ำสะอาด เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง ส่วนของเล่นที่เด็กอาจเอาเข้าปากได้ ให้ทำความสะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอกตามปกติ และนำไปผึ่งแดด
การระบาดในประเทศไทย
จากข้อมูลของการเฝ้าระวังโรคโดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค และของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พอให้เห็นภาพในบ้านเราดังนี้
พ.ศ. 2544 มีผู้ป่วยรวม 1,545 ราย ไม่มีผู้ตาย แยกเชื้อได้เป็นไวรัสเอ็นเตโร 71 จำนวน 2 ราย เป็นไวรัสค็อกซ์แซกกี เอ16 อีก 2 ราย
พ.ศ. 2545 มีผู้ป่วยรวม 3,533 ราย ตาย 2 ราย แยกเชื้อเป็นไวรัสเอ็นเตโร 71 ได้ 3 ราย ไม่พบไวรัสค็อกแซกกี เอ16
พ.ศ. 2546 มีผู้ป่วยรวม 875 ราย ไม่มีผู้ตาย แยกเชื้อได้เป็นไวรัสเอ็นเตโร 71 จำนวน 10 ราย เป็นไวรัสค็อกซ์แซกกี เอ16 อีก 4 ราย
พ.ศ. 2547 มีผู้ป่วยรวม 574 ราย ไม่มีผู้ตาย แยกเชื้อได้เป็นไวรัสเอ็นเตโร 71 จำนวน 51 ราย ไม่พบไวรัสค็อกซ์แซกกี เอ16
พ.ศ. 2548 มีผู้ป่วยรวม 2,270 ราย ไม่มีผู้ตาย แยกเชื้อได้เป็นไวรัสเอ็นเตโร 71 จำนวน 40 ราย ไม่พบไวรัสค็อกซ์แซกกี เอ16
พ.ศ. 2549 มีผู้ป่วยรวม 1,488 ราย มีผู้ตาย 6 ราย แยกเชื้อได้เป็นไวรัสเอ็นเตโร 71 จำนวน 22 ราย ไม่พบไวรัสค็อกซ์แซกกี เอ16
ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-22 ส.ค. 2554 จากการเฝ้าระวังใน 77 จังหวัด (รวมกรุงเทพมหานคร) พบผู้ป่วย 8,405 ราย มีผู้ป่วยสงสัยเสียชีวิตจากโรคมือ เท้า ปาก หรือเชื้อจากไวรัสเอ็นเตโร 71 หรือ EV71 จำนวน 4 ราย
จากข้อมูลเหล่านี้ ผมอยากจะให้คนไทยเราสบายใจได้ว่า ถ้าเกิดโรคนี้ในบ้านเรา เรามีทำงานเป็นทีมที่เข้มแข็ง ผมมั่นใจว่า เราเอาอยู่จริงๆ

เอื้อเฟื้อข้อมูลโดย...นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ราชบัณฑิต สาขาแพทยศาสตร์ ประธานมูลนิธิการศึกษาโรคไข้หวัดใหญ่